บรรยายประกอบขบวน




ขบวนรถกระทงที่กำลังผ่านสายตาของท่านอยู่ในขณะนี้  เป็นขบวนรถกระทงของสถาบันการพลศึกษา  วิทยาเขตเชียงใหม่  ซึ่งในปีนี้  ทางสถาบันการพลศึกษา  วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้จัดตกแต่งริ้วขบวน และรถกระทงภายใต้ชื่อว่า  “โคมคำล่องฟ้า  สะเปาคำล่องธารา  เทิดขวัญฟ้า  ไหว้สาพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี”  เพื่อสืบทอดประเพณีเดือนยี่เป็ง หรือลอยกระทง และร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา  อันเป็นเอกลักษณ์คู่เมืองเชียงใหม่  รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่
โดยในปีนี้ทางสถาบันการพลศึกษา  วิทยาเขตเชียงใหม่  ได้จัดตกแต่งริ้วขบวน และรถกระทงในแนวคิดที่ว่า  มหากษัตรีย์  มหาเทวีแลเหล่ากำนัล  ไพร่พล  จัดเตรียมขบวนแห่อันวิจิตร ประกอบด้วย  ช่อช้าง  ตุงไชย  ครื่องสักการะ  หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นดอก ต้นผึ้ง  พร้อมบรรดาช่างฟ้อนนางรำ  พลดาบฝีมือกล้า  ตามเสด็จ  องค์มหากษัตรีย์  มหาเทวี  ด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้น  เพื่อร่วมนมัสการพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี  ความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา  ที่มีต่อพระพุทธศาสนา มาช้านาน จึงเกิดความเชื่อเรื่องพระเกตุแก้วจุฬามณี 
สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ  ณ สถานทิพยพิมานแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐาน      "พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี"  อันมีพระเกศธาตุของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงสละเมื่อคราวเสด็จสู่ มหาภิเนษกรมณ์ รวมทั้งพระเขี้ยวแก้วข้างขวาของพระพุทธองค์ด้วย โดยพระเจดีย์จุฬามณี เป็นเจดีย์สร้างด้วยแก้วอินทนิล ประดับด้วยทองคำ และรัตนชาติเจ็ดประการ บริเวณทิพยพิมานสถานแห่งนี้ ตระการด้วยผืนแผ่นช่อช้างและตุงชัย  ซึ่งในประเพณีเดือนยี่เป็ง ชาวล้านนาที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา  จะมีการจุดประทีปโคมไฟ  เพื่อบูชาพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี  
                ภายในรถกระทง  จำลองเป็นขบวนพระยุหยาตราทางยานมาศ  ขององค์มหากษัตรีย์    ทรงประทับ          พระมหาราชรถ เทียมด้วยพญาคชสิงห์  ด้านหน้ามีแท่นที่ประทับขององค์มหาเทวี  รายล้อมด้วยเหล่านางกำนัล  เบื้องหลังจำลองเป็นสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  หรือ ไตรตรึงตราสาสวรรค์ อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ  ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล มีโคมทองประดิษฐาน อยู่ในมณฑปบุษบกขนาดเล็ก สถิตอยู่บนดอกบัว  ดูสง่าเป็นที่สักการบูชา    ของเหล่าเทพยดานางฟ้าที่สถิตยัง ทิพยพิมานบนสรวงสวรรค์แห่งนี้    เพื่อบูชาพระธาตุเกตุแก้ว จุฬามณี  และเปลี่ยมเสมือนทิพย์วิมานบนสวรรค์สรวงชั้นต่าง ๆ   ตรงกลางมีแท่นแก้วขนาดใหญ่ ด้านบนประดิษฐ์เป็น  สะเปาคำ  อันหมายถึง  เรือสำเภาในภาษาพื้นเมือง จากคติความเชื่อที่ว่า การล่องสะเปา  คือ          การทำทานให้แก่ผู้ล่วงลับ เป็นการลอยเคราะห์  ซึ่งเป็นเครื่องขอขมาต่อแม่น้ำคงคา  ด้านบนมีเหล่า เทพยดา  เทพยนารี เริงร่ายระบำรำฟ้อน  ระยิบระยับด้วยเครื่องศิลาภรณ์  อึงอลด้วยเสียงดุริยดนตรีของเหล่าเทพนคนธรรพ์ ที่ไพเราะเสนาะโสตพึงเสพ  ขนาบ 2 ข้างรถ ด้วยพญานาคราช  แห่งบาดาลนคร  ผู้สั่งสมบุญบารี  จุดหมายสูงสุดคือการได้ไปนมัสการพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี  บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์